วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551








พระกรณียกิจด้านการศึกษา การพัฒนาสื่อการสอน การสร้างโรงเรียนและการส่งเสริม ความเป็นเลิศทางวิชาการ

“...ที่จริงชอบวิชาครูมากกว่า และอยากเป็นครูตั้งแต่ต้น แต่ที่เจแนฟวิชาครูไม่ได้รับกับมหาวิทยาลัยคนก็บอกว่า ถ้าไม่ได้ปริญญาจะไปทำอะไรที่เมืองไทยไม่ได้ ก็เลยไม่ได้เรียน...”พระดำรัสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงแสดงพระปณิธานว่าทรงต้องพระประสงค์ที่จะเป็น “ครู” ตั้งแต่ต้น
เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๕ – พ.ศ. ๒๕๐๑ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์์ ทรงเริ่มปฏิบัติพระภารกิจด้านการศึกษาโดยทรงพระกรุณารับเป็น “อาจารย์” สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเล่าพระราชทานไว้ในหนังสือธรรมศาสตร์ ๖๐ ปี ว่า
“... ข้าพเจ้าเคยมีประสบการณ์ในการสอนมาบ้าง เพราะเคยเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย...เป็นการสอนปีละ ๒ – ๓ เดือน เป็นวิชาทั่วๆไปเช่น สอนการสนทนาสำหรับนิสิตปี ๒ วัฒนธรรมฝรั่งเศสปี ๓ และวรรณคดีฝรั่งเศสปี ๔ ...” ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๘ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ผู้ก่อตั้งและคณบดีคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานพระวโรกาสให้เข้าเฝ้า จึงกราบทูลให้ทรงทราบถึงโครงการ ขยายการศึกษาวิชาเอกด้านต่างๆในระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ มีปัญหาการขาดแคลนผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาบริหารงานหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสและงานผู้อำนวยการ ภาษาต่างประเทศ โดยที่มหาลัยธรรมศาสตร์มั่นใจในพระปรีชาสามารถ จึงขอพระราชทาน พระกรุณาให้ทรงรับงานสอนและงานบริหารในคณะศิลปะศาสตร์ และทรงรับตามที่ขอพระกรุณา ดังปรากฏในพระนิพนธ์บทความเรื่อง“เมื่อข้าพเจ้าไปสอนที่คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ์ ในหนังสือธรรมศาสตร์ ๖๐ ปี ว่า
“... ภายหลังได้ถามอาจารย์อดุลว่าทำไมจึงไว้ใจได้ ท่านตอบว่า ๑)ภาษาฝรั่งเศสของข้าพเจ้าเชื่อถือได้ ๒)ท่านมีประสบการณ์ในการเลี้ยงและผสมพันธ์ม้า และสังเกตได้ว่าถ้าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาจากพันธุ์ที่ดี ที่มีคุณสมบัติดี ส่วนมากลูกม้าจะดี มิฉะนั้นก็ใช้ไม่ได้เลย ...”











ในช่วงพ.ศ. ๒๕๑๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะศิลปศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๓ ทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และปีที่ ๔ และสอนวิชาประวัติวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ และปีที่ ๔ คณะศิลปศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๔ ทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ , ปีที่ ๒ และปีที่ ๔ คณะศิลปศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๕ ทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส แก่นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และปีที่ ๔ คณะศิลปศาสตร์ นอกจากทรงสอนภาษาฝรั่งเศส และวรรณคดีฝรั่งเศส แก่นักศึกษาชั้นปีต่าง ๆ แล้ว ยังทรงดูแลหลักสูตร และการปฏิบัติงานในสาขาวิชาดังกล่าวด้วย ทรงจัดสร้างหลักสูตรปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส จนสำเร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๖เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกัน อย่างเหมาะสม ทรงจัดระเบียบการปฏิบัติงานของอาจารย์ในสาขาฝรั่งเศสและภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งได้ทรงเสด็จดูงานและเข้าสัมมนายังต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ได้ทรงนำการจัดสัมมนาวิชาการ การริเริ่มงานใหม่ ๆ เช่น การจัดสร้างแบบทดสอบจัดระดับความรู้ภาษาฝรั่งเศสมาใช้เพื่อจัดแบ่งนักศึกษาเข้ากลุ่มเรียนตามความสามารถของตน

ในฐานะที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นหัวหน้าคณาจารย์ภาษาฝรั่งเศส ทรงมีพระจริยวัตรอันงดงามเป็นที่ประทับใจแก่บรรดาอาจารย์ ทรงพิจารณาปัญหาด้วยพระปรีชาสุขุมคัมภีรภาพ ทรงรับฟังความเห็นจากอาจารย์ที่ร่วมงาน ทรงพระราชทานคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการสอน ทรงยึดหลักความจริงและความยุติธรรมจึงทรงเป็น “ผู้บังคับบัญชา” ที่กอปรด้วยคุณธรรมอันควรแก่การสรรเสริญ นอกจากจะทรงอุทิศพระองค์ให้แก่งานทางวิชาการแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงมีน้ำพระหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาที่ทรงเกื้อกูลแก่ศิษย์และเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์และที่ทรงได้รับเป็นเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งเป็นทุนจัดซื้อหนังสือแก่นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์จำนวนหนึ่งและอีกจำนวนหนึ่งให้นักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพระกรุณาธิคุณดังกล่าวได้ไหลมาชโลมจิตใจของนักศึกษาตราบปัจจุบัน หลังจากที่ทรงงานสอนจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง “ศาสตราจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ต่อมาพ.ศ.๒๕๓๐ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทูลเกล้าฯถวายเข็มเกียรติยศ อันเป็นเครื่องหมายเทิดทูนเกียรติอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องว่า “เป็นผู้ทรงคุณธรรมและอุทิศตนเพื่อการศึกษา”
นอกจากทรงพระกรุณารับพระภารกิจด้านการสอนและการบริหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ระหว่างพ.ศ.๒๕๑๕ – ๒๕๑๗ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กราบทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาในสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสระดับชั้นปีที่ ๓ และปีที่ ๔ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการสอนภาษาและวรรณคดีแก่อาจารย์ในสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสนานัปการ ทำให้งานด้านวิชาการของสาขาวิชาฝรั่งเศส ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ เป็นที่น่าพอใจยิ่ง ในขณะเดียวกัน สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังได้พระราชทานเงินสมนาคุณ ที่มหาลัยเชียงใหม่ ทูลเกล้าฯถวายเนื่องในโอกาสที่ทรงได้มาสอนพิเศษแก่นักศึกษา วิชาภาษาฝรั่งเศส ที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อซื้อตำราประกอบการเรียน เป็นประจำทุกปีๆ ละ ๒ ทุน ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๕ – ปัจจุบัน และเมื่อได้มีการก่อตั้งสมาคมฝรั่งเศสเชียงใหม ่ในพ.ศ.๒๕๑๕ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงพระกรุณารับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคม







นอกจากนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๒๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังทรงพระกรุณา รับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และวิชาการเขียนรายงานแก่นิสิตคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงแสวงหาหนังสือและนิตยสารภาษาฝรั่งเศส พระราชทานเป็นสมบัติของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เพื่อให้อาจารย์ และนิสิตสามารถติดตามเหตุการณ์ของโลกและวิชาความรู้ใหม่ๆ ในด้านต่างๆ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ยังได้พระราชทานพระเมตตาให้นิสิตทุกคนที่ขัดข้องเข้าเฝ้ากราบทูล ถามได้ทุกโอกาส ด้วยทรงตั้งมั่นในพระหฤทัยว่าทรงเป็น “ครู” และทรง “รัก” ใน “วิชาชีพครู” จึงมิทรงหน่ายที่จะทรงอธิบายในเรื่องเดียวกันหลายครั้ง แต่จะทรงพอพระหฤทัยที่ทรงได้อธิบายดังที่ทรงมีพระดำรัสคราวหนึ่งว่า “...จะให้ฉันอธิบายสักกี่สิบครั้งก็ได้ ขอให้นักศึกษาเข้าใจก็แล้วกัน...” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสนพระหฤทัยและทรงติดตามเพื่อทรงทราบต่อไป ว่าศิษย์แต่ละคนได้ออกไปประกอบอาชีพใดบ้างทั้งทรงติดตามข่าวคราวของศิษย์ที่ไปศึกษาต่อ ด้วยน้ำพระหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาปราณีสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานเงินสมนาคุณที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทูลเกล้าฯถวายให้เป็นทุนอุดหนุนนิสิตที่ขัดสนและเรียนดีเพื่อซื้อตำรา ประกอบการเรียน ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๒๐ – ปัจจุบัน
ครั้นเมื่อพ.ศ.๒๕๒๑ อาจารย์อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ อาจารย์แผนกภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เขียนจดหมายกราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ทรงทราบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจังหวัดห่างไกล และมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเมื่อความทราบฝ่าพระบาทก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานลายพระหัตถ์ แจ้งให้อาจารย์อุบลวรรณ เดินทางมาเข้าเฝ้าที่วังสระปทุม ภายหลังอาจารย์อุบลวรรณได้เล่าว่า “...พระองค์ท่านให้นั่งรถไปด้วยกัน เป็นรถตำรวจ ทรงพาไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จำได้ว่าพระองค์ท่านตรัสว่า ‘ฉันหาครูให้ไม่ได้ แต่ฉันจะไปสอนให้เอง’...สมัยนั้นปัตตานีไม่ค่อยจะมีอะไรเท่าไหร่ โรงแรมดีๆ ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็คือให้พระองค์ท่านประทับในวิทยาเขต” โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มรับพระภารกิจการทรงงานสอนในรายวิชาภาษาฝรั่งเศส และวิชากวีนิพนธ์ (Po?sie) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓ ซึ่งการเสด็จครั้งนั้นทรงสร้างขวัญและกำลังใจแก่คณาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีโดยทั่วกัน นับจากนั้นอาจารย์อุบลวรรณ ยังมีจดหมายเป็นภาษาฝรั่งเศสมากราบทูลรายงานอย่างสม่ำเสมอ



ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานสอนในฐานะ “สมเด็จฯอาจารย์” ศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่ได้สัมผัสและซาบซึ้งในพระเมตตาคุณพร้อมกับคำร่ำลือที่ว่า “ทรงดุ” เป็นที่กลัวและเกรงของนิสิต นักศึกษาทั่วหน้ากัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเล่าพระราชทานไว้ว่า “เวลาบรรยายในมหาวิทยาลัย ความสัมพันธ์ก็น้อย แต่ถึงอย่างไร พอถามไป พูดอะไรที่ตลกๆไปหน่อย เขาก็หัวเราะออกมาได้ ที่แปลกคนนึกว่าฉันต้องดุมาก ฉันเป็นคนที่ดุข้างนอก คนกลัวมากถ้าทำอะไรที่พูดแล้วก็ทำอย่างนั้นอยู่ ฉันก็รำคาญ เอ็ดตะโรหน่อยและเสียงดังด้วย คนก็ชอบว่าดุ แต่เวลาสอนฉันไม่ดุ...เวลาเป็นครูฉันใจดีมาก”
พระภารกิจอีกประการหนึ่งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับผิดชอบเมื่อทรงดำรงตำแหน่ง “อาจารย์” คือการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย โดยทรงพระดำริ จัดตั้ง “สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย” ขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๕๒๐ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ การสอนภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศสในทุกระดับและเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น ทางวิชาการ วิธีการสอนสื่อการสอน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับองค์กรและหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องเช่นศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศส (Services Culturels) UNESCOและ SEAMEO เป็นต้น โดยสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณารับดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๔ จากนั้นทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบันทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่สมาคมฯ ในทุกทาง เช่นทรงสนับสนุนการพิมพ์วารสารของสมาคมเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ พระราชทาน พระนิพนธ์บทความลงวารสาร ทรงส่งเสริมให้สมาชิกครูได้เข้ารับการสัมมนา ดูงานและศึกษาต่อ เป็นต้น







แม้แสนนานเพียงไหนจะไม่ลืมแสงแห่งศรัทธา บรรเลงเพลงต่างดอกไม้ฝากสายลมพัดพาพวงดอกแก้วกัลยาเบ่งบานยังปลายฟ้านิรันดร์

พระราชประวัติ พระพี่นางฯ







พระราชประวัติ




สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ สถานพยาบาล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีพระอนุชา 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และ ในพ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ ใน พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาลทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หลังจากที่ประสูติได้ไม่นานนัก สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงย้ายจากกรุงลอนดอนไปประทับอยู่ที่เมืองเซาท์บอน ทางฝั่งตะวันออก และหลังจากนั้นไปประทับที่เมืองบอสคัม ทางชายฝั่งทะเลด้านใต้ของประเทศอังกฤษ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือน ต.ค. พ.ศ. 2466 ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จกลับประเทศไทย เมื่อเสด็จถึงประเทศไทย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานพระตำหนักใหญ่ของวังสระปทุมเป็นที่ประทับ พระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล ซึ่งเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระบรมราชชนนี ระหว่างที่ทรงศึกษาวิชาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ถวายการอภิบาล ต่อมาพ.ศ. 2468 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศส










การศึกษา ใน พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทย เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ทรงนำพระธิดาและพระโอรสพระองค์ แรกไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กโซเลย์ (Champ Soleil) หลายเดือน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศส ในปลาย พ.ศ. 2469 สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตัน (Boston) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School) ใน พ.ศ. 2471 เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard) จึงได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย และประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี และทรงศึกษาอยู่จนถึง พ.ศ. 2476 ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระโอรส-พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เข้าศึกษาในโซเลย์อีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลา ๒ เดือน แล้วจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาชื่อเมียร์มองต์ (Miremont) การศึกษาที่เมียร์มองต์นั้นครูมีการอ่านเรื่องสั้นๆ ให้ฟัง นักเรียนจะต้องเขียนเรื่องที่ได้ฟังส่งให้ครูตรวจ ในระยะแรกทรงเขียนได้เพียง 1 บรรทัด จากเรื่องยาวประมาณครึ่งหน้ากระดาษที่ครูอ่าน ครั้งหนึ่งครูให้เขียนประโยคเกี่ยวกับ TAON (ตัวเหลือบ) ทรงเข้าพระทัยคิดว่าเป็น PAON (นกยูง) เพราะเสียงคล้ายกัน จึงทรงเขียนว่า "TAON เป็นนกที่สวยงาม" แต่อีกต่อมาประมาณ 2 ปี ก็ทรงเขียนร่วมกับนักเรียนชาวสวิตได้อย่างดี จนจบชั้นประถมศึกษา พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ และรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์สมบัติ หลังจากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงนำพระโอรส-พระธิดา ไปประทับที่บ้านซึ่งพระราชทานนามว่า วิลล่าวัฒนา (Villa Vadhana) เมืองปุยยี ใกล้กับโลซาน พ.ศ. 2478 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรี ชื่อ École Supérieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ชั้นมัธยมศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นับจาก ชั้น 6 5 4 3 2 1 ทรงสามารถสอบเข้าชั้น 5 ในระดับมัธยมศึกษาได้ ทรงเรียนภาษาเยอรมันและภาษาละตินด้วย พ.ศ. 2481 ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่เจนีวา ในลักษณะของนักเรียนประจำที่ International School of Geneva ทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดของระดับมัธยมศึกษาได้เยี่ยมเป็นที่ 1 ของโรงเรียน และที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. 2485 ได้เสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และได้รับ Diplôme de Chimiste A เมื่อ พ.ศ. 2491 ในระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ - ครุศาสตร์ Diplime de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเคมีแล้ว ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย





การทรงงาน เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ ได้รับสั่งแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส นิสิตที่ได้มีโอกาสเป็นศิษย์ด้วยล้วนปีติยินดีในพระกรุณาธิคุณยิ่งนัก หลายคนรำลึกได้ว่าในวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสทรงสอนผลงานของ Victor Hugo นักประพันธ์เอกของโลก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. 2501 ใน พ.ศ.2512 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขอรับพระราชทานพระกรุณาให้ทรงเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงรับงานสอนและงานบริหารโดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ อันประกอบด้วยภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่างๆ และทรงดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ทรงจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2516 เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติงานสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบทูลเชิญเป็นองค์บรรยายพิเศษตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ในปี พ.ศ. 2519 เมื่อพระราชกิจด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก นอกจากนั้น ยังทรงรับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศสในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย ต่อมาเมื่อทรงทราบปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตา เสด็จไปทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสโดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์อื่นๆ ระหว่างที่ทรงงานสอน ได้ทรงร่วมกิจกรรมทางวิชาการหลายด้าน เช่น ทรงเป็นกรรมการสอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นประธานออกข้อสอบภาษาฝรั่งเศสในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ หลังจากที่ปฏิบัติงานด้านการสอนมาจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์






ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนถึง พ.ศ. 2524 จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้พระราชทานพระอนุเคราะห์แก่สมาคมฯ ในทุกทาง อาทิ ทรงสนับสนุนการพิมพ์วารสารของสมาคม เพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ พระราชทานพระนิพนธ์บทความลงวารสาร ทรงส่งเสริมให้สมาชิกครูได้เข้ารับการสัมมนา ดูงานและศึกษาต่อ เป็นต้น การเรียนการสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสและการวิจัยด้านภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยทั้งระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาจึงเจริญรุดหน้าเป็นลำดับ