วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553

เต่า


เต่า (อังกฤษ: Turtle) คือ สัตว์จำพวกหนึ่งในอันดับ Chelonia จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลือดเย็น และเป็น สัตว์เลื้อยคลานด้วย ซึ่งเต่านั้นถือเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยเต่าจะมีกระดูกที่แข็งคลุมบริเวณหลังที่เรียกว่า "กระดอง" ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะสามารถหดหัว ขา และหางเข้าในกระดองเพื่อป้องกันตัวได้ แต่เต่าบางชนิดก็ไม่อาจจะทำได้




โดยมากแล้ว เต่า เป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ช้า อาศัยและใช้ช่วงชีวิตหนึ่งอยู่ในน้ำ ซึ่งมีอาศัยทั้งน้ำจืด และทะเล แต่เต่าบางชนิดก็ไม่ต้องอาศัยน้ำเลย เรียกว่า "เต่าบก" (Cryptodira) ซึ่งเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่ายักษ์กาลาปากอส (Geochelone nigra) ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะกาลาปากอส ในเอกวาดอร์ (มีทั้งหมด 15 ชนิดย่อย) ในขณะที่เต่าน้ำ (Pleurodira) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่าอัลลิเกเตอร์ (Macrochelys temminckii) อาศัยอยู่ตามหนองน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ

เต่าทะเล
เป็นเต่าจำพวกหนึ่งที่ทั้งชีวิตอาศัยอยู่แต่ในทะเลเพียงอย่างเดียว จะขึ้นมาบนบกก็เพียงแค่วางไข่เท่านั้น โดยที่เท้าทั้งสี่ข้างพัฒนาให้เป็นอวัยวะคล้ายครีบ ซึ่งเต่าทะเลทั่วโลกปัจจุบันมีทั้งหมด 8 ชนิด ใน 2 วงศ์ 5 สกุล ได้แก่ เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) , เต่าตนุ (Chelonia mydas) , เต่าตนุหลังแบน (Natator depressus) , เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) , เต่าหัวค้อน (Caretta caretta) , เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) , เต่าหญ้าแอตแลนติก (Lepidochelys kempii) โดยที่เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลและเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

อาหารของเต่า
เต่า กินอาหารได้ทั้ง พืช และสัตว์ โดยเต่าบางชนิดก็จะกินแต่เฉพาะสัตว์ เช่น เต่าอัลลิเกเตอร์, เต่าสเน็ปปิ้ง (Chelydra serpentina) , เต่าปูลู (Platysternon megacephalum) เป็นต้น

เต่ากับมนุษย์
โดยปกติแล้ว มนุษย์จะไม่ใช้เนื้อเต่าหรือไข่เต่าเป็นอาหาร แต่ก็มีบางพื้นที่หรือคนบางกลุ่มที่นิยมบริโภคเนื้อเต่าหรือเนื้อตะพาบ โดยเชื่อว่าเป็นอาหารบำรุงกำลัง เช่น ตะพาบน้ำตุ๋นยาจีน เป็นต้น โดยความเชื่อทั่วไปแล้ว เต่า ถือเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน คนไทยจึงมีความเชื่อว่าหากได้ปล่อยเต่าจะเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์เชื่อต่ออายุให้ยืนยาว ดังนั้น จึงมักเห็นเต่าหรือตะพาบตามแหล่งน้ำในวัดบางแห่งเสมอ ๆ ในประเทศจีน หลักฐานทางโบราณคดี พบว่า สมัยราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซาง กระดองเต่า ถูกใช้เป็นเครื่องทำนายทางโหราศาสตร์ ในทางไสยศาสตร์ของไทย มีการใช้เต่าเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ยันต์เต่าเลือน เป็นต้น

เต่า ในทางภาษาศาสตร์ของไทย ยังใช้เป็นพยัญชนะลำดับที่ ๒๑ โดยมักใช้เป็นตัวสะกด คือ ต.เต่า โดยเป็นตัวอักษรเสียงกลาง นอกจากนี้แล้ว เต่า ยังเป็นตัวแทนของความเชื่องช้า โง่งม จึงมีสำนวนทางภาษาในนัยเช่นนี้ เช่น โง่เง่าเต่าตุ่น เป็นต้น


เครดิต

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2

ไม่มีความคิดเห็น: